คำถามที่พบบ่อย

Q : คำถามที่ 1 - ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย หรือ Thailand Existing Chemicals Inventory : TECI คืออะไร
A : ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย คือ บัญชีรายการสารเคมีที่รวบรวมรายชื่อสารเคมีที่มีอยู่ในตลาดของประเทศไทย ที่ถูกนำเข้าและผลิตในประเทศ รวบรวมข้อมูลสารเคมีจากการนำเข้าของกรมศุลกากร รายใบขนในหมวด 5 และหมวด 6 ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรที่ 25 – 38 และข้อมูลการผลิตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยมีทำเนียบข้อมูลสารเคมีของประเทศ ที่รวบรวมรายชื่อสารเคมี ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นที่ทำให้ทราบว่ามีสารเคมีอะไรบ้างอยู่ในประเทศ สามารถใช้เป็นข้อมูลวางแผนควบคุมจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบและครอบคลุม ตลอดจนให้ข้อมูลทำเนียบสารเคมีนี้ เข้าถึงได้โดยภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป ปัจจุบันประเทศไทย มีทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย รวม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ปี 2555 สำหรับสารเดี่ยว รวบรวมรายการสารเคมีที่เป็นสารเดี่ยวที่ถูกนำเข้าและผลิตในประเทศไทย ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 (2) ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย ปี 2559 สำหรับสารเดี่ยวและสารผสม รวบรวมรายการสารเคมีทั้งสารเดี่ยวและสารผสม ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
Q : คำถามที่ 2 - รายการสารเคมีในทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยนี้ เป็นบัญชีสารเคมีตามกฎหมาย ที่ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตสารเคมี จำเป็นขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่
A : รายการสารเคมีในทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยฉบับนี้ เป็นข้อมูลที่ใช้ทางวิชาการ ไม่ใช่ข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลทั่วไปและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้เพื่อการสืบค้น ตรวจสอบเพื่อนำไปเฝ้าระวังและศึกษาวิจัย ดังนั้น ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตสารเคมี จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด ๆ ทางกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
Q : คำถามที่ 3 - การสืบค้นข้อมูลสารเคมีในทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย มีวิธีการอย่างไร
A : ผู้เข้าใช้เว็บไซต์สามารถสืบค้นข้อมูลรายการสารเคมีในทำเนียบฯ และสั่งพิมพ์ผลการสืบค้นข้อมูลได้ โดยไปที่ การสืบค้นข้อมูลทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย และมีวิธีการสืบค้น ดังนี้ 1) ศึกษาเงื่อนไขการให้บริการข้อมูลในทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย และกด “รับทราบ” 2) ลงทะเบียนก่อนการสืบค้น โดยกรอกข้อมูล คำนำหน้า ชื่อ - นามสกุล หน่วยงาน อีเมล์ จากนั้นกด “บันทึก” 3) เลือกปีที่จะสืบค้น ปี 2555 หรือปี 2559 4) เลือกจำนวนรายการสารเคมีที่จะสืบค้น “รายสาร” หรือ “หลายสาร” 5) การสืบค้นข้อมูล “รายสาร” สามารถสืบค้นด้วย หมายเลข CAS หรือ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ หรือ เลขพิกัดศุลกากร โดยกรอกข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง และกด “ค้นหา” จะปรากฏผลการสืบค้นข้อมูลเป็นรายการสารเคมี หากต้องการสั่งพิมพ์ กด “สั่งพิมพ์การสืบค้นข้อมูล” 6) การสืบค้นข้อมูล “หลายสาร” สามารถสืบค้นด้วย หมายเลข CAS หรือ ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ หรือ เลขพิกัดศุลกากร ทั้งหมดทุกรายการ หรือ กรอกข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง ในแต่ละรายการ และกด “ค้นหา” จะปรากฏผลการสืบค้นข้อมูลเป็นรายการสารเคมี หากต้องการสั่งพิมพ์ กด “สั่งพิมพ์การสืบค้นข้อมูล”
Q : คำถามที่ 4 - ข้อมูลรายการสารเคมีในทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยนี้ มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือสามารถเพิ่มเติมรายการสารเคมีได้หรือไม่
A : ทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย พัฒนาขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูล ทางวิชาการ เป็นการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้ทราบว่ามีสารเคมีอะไรบ้างอยู่ในประเทศ และเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ที่จะปรับปรุง เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล ในทำเนียบฯ ได้ตลอดเวลาเพื่อความถูกต้อง ขอบเขตของการจัดทำทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย รวบรวมรายการสารเคมีที่ผลิตในประเทศและรายการสารเคมีรายใบขนที่นำเข้าในหมวด 5 และหมวด 6 ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรที่ 25 – 38 ในช่วงปี 2555 และ 2559 ดังนั้นหากสารเคมีที่ไม่อยู่ในขอบเขตนี้ จะไม่ถูกบรรจุในทำเนียบฯ หากผู้นำเข้าหรือผู้ผลิต มีรายการสารเคมีที่นำเข้าหรือผลิตที่อยู่ในขอบเขตการจัดทำแต่ไม่ปรากฏในทำเนียบฯ และมีความประสงค์ที่จะเพิ่มข้อมูลรายการสารเคมีดังกล่าว สามารถส่งรายการสารเคมี และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หมายเลข CAS ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ ชื่อ IUPAC พิกัดศุลกากร และกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ควบคุม (ถ้ามี) พร้อมเอกสารหลักฐานยืนยันการนำเข้าหรือผลิตในประเทศ มาที่ ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กองแผนงานและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือทางอีเมล์ ipcs_fda@fda.moph.go.th เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาความถูกต้องเหมาะสม ในการบรรจุข้อมูลในทำเนียบฯ ต่อไป
Q : คำถามที่ 5 - หากสนใจติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารกิจกรรมเกี่ยวกับทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย มีวิธีการลงทะเบียนอย่างไร
A : ผู้เข้าใช้เว็บไซต์สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมล่าสุด ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย และกำหนดการประชุมต่าง ๆ ที่จัดโดยศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กองแผนงานและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งการประชุมต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีได้ ผ่านการเชื่อมต่อปฏิทินกิจกรรมบนเว็บไซต์นี้ กับปฏิทินออนไลน์ของ Google (Google calendar) ของผู้เข้าใช้เว็บไซต์ โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้ 1. ผู้สนใจติดตามปฏิทินกิจกรรมจะต้องมีบัญชีผู้ใช้งานอีเมลของ Gmail และ Google calendar หากไม่มี สามารถสร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่ได้ที่ https://accounts.google.com/signup/v2/webcreateaccount?hl=th&flowName=GlifWebSignIn&flowEntry=SignUp&nogm=true 2. ไปที่เมนูข่าวประชาสัมพันธ์ กดแถบ “บอกรับปฏิทินกิจกรรม” ด้านล่างปฏิทินกิจกรรม 3. ระบบจะแสดงกล่องข้อความ กรอกอีเมลของ Gmail และรหัสผ่าน จากนั้นกด “ถัดไป” 4. ระบบจะแสดงกล่องข้อความ สอบถามการอนุญาตให้เชื่อมต่อโดยการเข้าถึงบัญชี Google และอนุญาตให้จัดการปฏิทิน Google ของผู้สนใจ กด “อนุญาต” 5. ระบบจะแสดงกล่องข้อความ “คุณได้ลงทะเบียนบอกรับปฏิทินกิจกรรมเรียบร้อยแล้ว” 6. แถบ “บอกรับปฏิทินกิจกรรม” บนเมนูข่าวประชาสัมพันธ์ จะเปลี่ยนเป็น“ลงทะเบียนบอกรับปฏิทินกิจกรรมแล้ว” ซึ่งถือว่าท่านได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว 7. ข่าวสารกิจกรรมเกี่ยวกับทำเนียบรายการสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทย และกำหนดการประชุมต่าง ๆ จะเชื่อมต่อกับ Google calendar ของผู้ติดตาม โดยจะปรากฏในช่องปฏิทินในแต่ละวัน
Copyright ๑ 2017 Thailand Existing Chemicals Inventory (TECI) All rights reserved